Leopold III (1901-1983)

พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ (๒๔๔๔-๒๕๒๖)

​​​​​

     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงเป็นกษัตริย์ของชาวเบลเยียม (King of the Belgians) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๕๑ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* เมื่ออำนาจอธิปไตยและความเป็นกลางของเบลเยียมได้ถูกกองทัพเยอรมันละเมิดและเข้ารุกรานใน ค.ศ. ๑๙๔๐ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงประกาศยอมแพ้แก่เยอรมนี ทั้งที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจใด ๆ ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญของเบลเยียม พระองค์จึงถูกรัฐบาลเบลเยียมประกาศถอดถอนพระราชอำนาจและหน้าที่ ทั้งปวงในฐานะกษัตริย์ของชาวเบลเยียม เมื่อสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ก็ยังคงได้รับการต่อต้านจากชาวเบลเยียมพระองค์จึงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์จน ค.ศ. ๑๙๕๐ รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญให้พระองค์กลับมาครองราชบัลลังก์ แต่การจลาจลของกลุ่มต่อต้านทำให้พระองค์ต้องทรงประกาศสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๙๕๑
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา ๓ พระองค์ในพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๙๐๙-๑๙๓๔)* และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท (Elizabeth) สมาชิกของราชวงศ์วิลล์เลบาค (Willlebach) แห่งบาวาเรีย (Bavaria) ประสูติ ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๑ ในขณะที่พระราชบิดายังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงมีพระนามเต็มว่า เลโอโปลด์ ชาลส์ อัลเบิร์ต ไมน์รัด ฮูเบอร์ทัส มารี มีเกล (Leopold Charles Albert Meinrad Hubertus Marie Miguel) และทรงดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเบลเยียม (Prince of Belgium) เจ้าชายแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Prince of Saxe-Coburg-Gotha) และดุ๊กแห่งแซกโซนี (Duke of Saxony) ต่อมาเมื่อพระราชบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าชายเลโอโปลด์ก็ได้เลื่อนพระยศเป็นดุ๊กแห่งบราบันต์ (Duke of Brabant) ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของมกุฎราชกุมารเบลเยียม
     เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนอีตัน (Eton) ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ นั้น ทรงมีพระชันษาเพียง ๑๓ ปี ซึ่งต่อมาทำให้พระองค์ต้องทรงยุติการศึกษาและเสด็จกลับเบลเยียม เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงร่วมกับชาวเบลเยียมในการรณรงค์ปกป้องประเทศ พระองค์ทรงอยู่เคียงข้างพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ พระราชบิดาซึ่งไม่ทรงยอมละทิ้งเบลเยียมที่ถูกกองทัพเยอรมันละเมิดความเป็นกลางและเข้ายึดครองดินแดนเกือบทั้งหมดของประเทศ ในปลายสงคราม เมื่อทรงเจริญพระชันษา มากขึ้นเจ้าชายเลโอโปลด์ก็ทรงเข้าร่วมรบกับกรมทหารที่ ๑๒ (12th Belgian Regiment) ในฐานะพลทหารเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเดินทางไปศึกษาต่อในวิทยาลัยเซนต์แอนโทนี (St. Anthony Seminary) ณ เมืองแซนตาบาร์บารา (Santa Barbara) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ก็ทรงเดินทางกลับเบลเยียมและเข้าประจำการ ณ กองทหารราบรักษาพระองค์ (Grenadier Guards) และทรงปฏิบัติราชการทหารดังกล่าวนี้จนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๔
     ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๖ พระเจ้าเลโอโปลด์ขณะดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารเบลเยียมทรงพบรักและเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแอสตริด โซฟี หลุยส์ ไทรา (Astrid Sophie Louise Thyra) แห่งสวีเดนพระราชนัดดา (หลานปู่และหลานตาตามลำดับ) ในพระเจ้าออสคาร์ที่ ๒ (Oscar II ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๕๙) แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ และพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๘ (Frederick VIII ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๒) แห่งเดนมาร์กเจ้าชายเลโอโปลด์และเจ้าหญิงแอสตริดทรงเป็นแบบฉบับให้แก่คู่สมรสหนุ่มสาวชาวเบลเยียม ทรงมีความรักและความเอื้ออาทรต่อกันและมักจะแสดงความรู้สึกดังกล่าวอย่างเปิดเผย เช่น ทรงกุมพระหัตถ์กันขณะทรงพระดำเนินทั้งในที่สาธารณะและงานพระราชพิธี อีกทั้งเจ้าหญิงแอสตริดก็โปรดที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ดังที่ทรงคุ้นเคยในราชสำนักสแกนดิเนเวียที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบมากนัก พระองค์ทรงเลือกที่ประทับในพระตำหนักหลังเล็กแทนพระราชวังลาเคน (Laeken) และเสด็จห้องเครื่องเพื่อทรงปรุงพระกระยาหารเอง ต่อมาแม้จะประสูติพระธิดาและพระโอรสแล้ว ก็โปรดพาพระธิดาและพระโอรสในรถเด็กทรงเข็นเยี่ยงสามัญชนทั่วไปไปตามบาทวิถีของถนนอะเวนิวหลุยส์ (Avenue Louise) ในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อรับแสงแดดอันอบอุ่นและความเพลิดเพลิน แม้พระจริยวัตรดังกล่าวอาจก่อปัญหาในการถวายความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่อารักขา แต่ขณะเดียวกัน กลับทำให้ชาวเบลเยียมรู้สึกใกล้ชิดและรักใคร่เอ็นดูในการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระสุณิสามากขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อเจ้าชายเลโอโปลด์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าหญิงแอสตริดในพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีจึงทรงเป็นพระราชินีที่ชาวเบลเยียมชื่นชอบมากที่สุด ภาพลักษณ์ของพระองค์ก็มี

อิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ด้วย
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ และสมเด็จพระราชินีแอสตริดทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๓ พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงโจเซฟิน ชาร์ลอตต์ [Josephine Charlotte ประสูติ ค.ศ. ๑๙๒๗ ต่อมาได้อภิเษกกับประมุขของแกรนด์ดัชชีลักเซมเบิร์ก และดำรงพระ อิสริยยศแกรนด์ดัชเชสแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duchess of Luxembourg)] เจ้าชายโบดวง [Baudouin ประสูติ ค.ศ. ๑๙๓๐ ต่อมาคือพระเจ้าโบดวง (Boudouin ค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๙๓)*] และเจ้าชายอัลเบิร์ต [Albert ประสูติ ค.ศ. ๑๙๓๔ ต่อมาคือ พระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๒ (Albert II ค.ศ. ๑๙๙๓-)*]
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ หลังจากที่พระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ พระราชบิดาเสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุกีฬาปีนเขาในแคว้นอาร์แดน (Ardennes) ในปีต่อมาขณะที่พระราชวงศ์แปรพระราชฐานไปประทับพักผ่อนในสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีแอสตริดก็ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะจะไปทรงกีฬาปีนเขาและสวรรคต ณ บริเวณใกล้หมู่บ้านคืสส์นาคท์-อัม-รีกี (Küssnacht-am-Rigi) ริมทะเลสาบลูเซิร์น (Lucerne) เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ทั้งนี้โดยพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงเป็นผู้ขับขี่พระพาหนะ นับเป็นความเศร้าสลดอีกครั้งของราชวงศ์ที่เกิดติดต่อกันภายในเวลาไม่ถึง ๒ ปี การสวรรคตของพระมเหสีแม้ว่าจะสร้างความโทมนัสแก่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เป็นอย่างยิ่ง แต่ชาวเบลเยียมโดยทั่วไปซึ่งต่างเคารพรักและชื่นชมในสมเด็จพระราชินีแอสตริดก็พากันวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงและพระเกียรติยศของพระองค์ต้องมัวหมองลงด้วย
     นอกจากนี้ รัชกาลของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ยังเริ่มต้นพร้อม ๆ กับการเข้ามามีอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติหรือนาซี (National Socialist German Workers’ Party- NSDAP; NAZI)* ที่เข้าดำรงตำแหน่งฟือเรอร์ (Führer)* หรือผู้มีอำนาจเผด็จการสูงสุดของเยอรมนีในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๔ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างก้าวร้าวของเยอรมนีที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนติดกันเพื่อหาทางยกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ได้สร้างความวิตกให้แก่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เป็นอันมาก และทำให้พระองค์คิดป้องกันมาตุภูมิมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ประเทศต้องเป็นสนามรบดังเช่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ อีก เมื่อเยอรมนีส่งทหารเข้ายึดครองแคว้นไรน์ (Rhineland) อันเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. ๑๙๓๖ พระเจ้า เลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศของเบลเยียม โดยให้เบลเยียมล้มเลิกความร่วมมือกับฝรั่งเศสทางด้านการทหารและการป้องกันประเทศ และหันมาดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์สูงสุดของเบลเยียม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ฮิตเลอร์ก็ให้การค้ำประกันความเป็นกลางของเบลเยียม ซึ่งทำให้เบลเยียมดูเหมือนจะปลอดภัยจากการรุกรานของเยอรมนีถ้าเยอรมนีเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้เบลเยียมจะดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ประเทศก็ตกอยู่ในภาวะล่อแหลมที่อาจถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกรานเพื่อใช้เป็นทางผ่านเพื่อโจมตีฝ่ายประเทศพันธมิตรได้ทุกเวลา ดังนั้น พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ จึงทรงสนับสนุนให้มีการสร้างแนวป้อมปราการตั้งแต่เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) จนถึงเมืองนามูร์ (Namur) เพื่อป้องกันการบุกของกองทัพเยอรมัน ขณะเดียวกัน ก็ทรงดำรง ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเบลเยียมด้วย
     อย่างไรก็ดี ในที่สุดเยอรมนีได้ละเมิดข้อตกลงความเป็นกลางของเบลเยียมดังที่ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงวิตก และส่งกองทัพเข้ารุกรานโดยปราศจากการเตือนล่วงหน้าเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ สถานที่สำคัญ ๆ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ และการสื่อสารต่าง ๆ ถูกระเบิดและทำลาย ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ขณะที่กองกำลังร่วมรบของอังกฤษและฝรั่งเศสรวมทั้งเบลเยียมถูกกองทัพเยอรมันโจมตีจนต้องล่าถอยไปติดทะเลเหนือ ณ บริเวณหัวหาดที่เมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ กลับทรงเรียกร้องให้อังกฤษส่งความช่วยเหลือโดยด่วนแก่เบลเยียมที่กำลังถูกโอบล้อมด้วยกองกำลังเยอรมัน มิฉะนั้นเบลเยียมจะประกาศยอมแพ้ อีก ๒ วันต่อมา พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงออกคำสั่งให้ทหารเบลเยียมวางอาวุธและประกาศยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข แม้ว่าพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ จะปฏิเสธที่จะเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศไปประทับยังอังกฤษและทรงถูกจับกุมเป็นเชลยสงคราม ณ พระราชวังลาเคน แต่ชาวเบลเยียมโดยทั่วไปต่างไม่พอใจพระองค์เป็นอันมาก เพราะการประกาศยอมแพ้ดังกล่าวในขณะที่สถานการณ์รบอยู่ในภาวะคับขัน ฝ่ายเยอรมนีอาจถือโอกาสโหมโจมตีฝ่ายพันธมิตร และทำให้การถอนทัพที่ดันเคิร์ก (Evacuation of Dunkirk)* ต้องล้มเหลวลง ซึ่งอาจหมายถึงความหายนะของฝ่ายพันธมิตร รวมทั้งชีวิตจำนวนมากของทหารเบลเยียม อีกทั้งการประกาศยอมแพ้ยังแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงเด็ดเดี่ยวเยี่ยงพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ พระราชบิดาที่ไม่ยอมจำนนต่อกองทัพของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และต่อสู้จนถึงที่สุดจนเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป
     นอกจากนี้ ในด้านของคณะรัฐบาลซึ่งมีอูแบร์ ปีแยร์โล (Hubert Pierlot) เป็นนายกรัฐมนตรีก็ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ กับเยอรมนี อีกทั้งยังประกาศว่าการกระทำของพระองค์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญเบลเยียม ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม รัฐบาลเบลเยียมซึ่งลี้ภัยไปประชุมกันที่กรุงปารีสยังได้ลงมติถอดถอนพระราชอำนาจทั้งปวงของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ รวมทั้งสิทธิของกษัตริย์ของชาวเบลเยียมอีกด้วย ซึ่งรัฐสภาแห่งเบลเยียมก็ให้การสนับสนุนคำตัดสินของรัฐบาลเป็นอย่างดี ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อประสานงานกับฝ่ายพันธมิตรในการต่อต้านและต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี
     ขณะที่ทรงเป็นเชลยสงครามและถูกกักบริเวณ ณ พระราชวังลาเคนนั้น พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงปฏิเสธที่จะร่วมมือกับกองทัพเยอรมันในฐานะองค์ประมุขของประเทศ อีกทั้งยังทรงหลีกเลี่ยงที่จะปรากฏพระองค์อย่างเป็นทางการร่วมกับคณะนายทหารที่เข้ามายึดครองเบลเยียม อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เสด็จไปพบฮิตเลอร์ ณ เมืองแบร์คเทสกาเดิน (Bercktesgaden) ในเยอรมนี และทรงประสบความสำเร็จในการเจรจากับฮิตเลอร์ให้ปลดปล่อยเชลยสงครามชาวเบลเยียมจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน รวมทั้งการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของอาหารให้แก่ชาวเบลเยียมที่อยู่ใต้การปกครองของกองทัพเยอรมันด้วย แม้การกระทำของพระองค์จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติโดยตรง แต่ในสายตาของฝ่ายพันธมิตรและชาวเบลเยียมผู้รักชาติจำนวนมากพระองค์คือผู้ทรยศต่อประเทศและเป็นผู้ร่วมมือกับนาซีกองกำลังเยอรมัน และฮิตเลอร์ที่เป็นศัตรูที่สำคัญของประเทศ
     พระเกียรติยศของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ได้ถดถอยลงไปอีกเมื่อพระองค์ทรงอภิเษกสมรสอย่างลับ ๆ กับมารี ลิเลียน เบลส์ (Marie Lilian Baels) ธิดาของนักอุตสาหกรรมในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ ในขณะที่เบลเยียมยังคงตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพ เยอรมัน การอภิเษกสมรสกับสตรีสามัญชนดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามหรือเป็นการอภิเษกสมรสที่ผิดกฎมนเทียรบาล (morganatic marriage) เมื่อข่าวได้แพร่กระจายเป็นที่รับรู้กันก็ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่ชาวเบลเยียมที่ยังคงระลึกถึงสมเด็จพระราชินีแอสตริดและสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ นอกจากนี้ ชาวเบลเยียมผู้รักชาติยังไม่อาจให้อภัยพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ได้ที่ "ทรงแสวงหาความสำราญส่วนพระองค์" ด้วยการอภิเษกสมรสในภาวะที่ประเทศชาติและประชาชนยังประสบกับความคับขันและความทุกข์ยากอันเนื่องจากการยึดครองของกองทัพเยอรมัน ในเวลาต่อมา เบลส์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าหญิงแห่งรูที (Princess de Ruethy) ทรงมีพระราชโอรสร่วมกัน ๑ พระองค์และพระราชธิดาอีก ๒ พระองค์
     ในวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากที่กองทัพเยอรมันยึดครองเบลเยียมได้ ๔ ปี และฝ่ายพันธมิตรมีทีท่าว่าจะช่วยปลดปล่อยเบลเยียมได้สำเร็จในเวลาไม่ช้า ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ผู้นำอันดับสองของพรรคนาซีต่อจากฮิตเลอร์และหัวหน้าหน่วยเอสเอส (SS - Schultzstaffel - Defence unit)* ก็ได้มีคำสั่งให้คุมตัวพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ไปยังเยอรมนี ในวันรุ่งขึ้นเจ้าหญิงแห่งรูที พระชายาก็ถูกบังคับให้เสด็จพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระราชินีแอสตริด รวมทั้งเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander ประสูติ ค.ศ. ๑๙๔๒) พระราชโอรสองค์โต พระชันษา ๒ ปีในเจ้าหญิงแห่งรูทีไปควบคุมตัวที่เยอรมนีด้วย พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ พร้อมด้วยพระราชวงศ์ทั้งหมดถูกคุมตัวที่ป้อมแห่งหนึ่งในเฮียร์ชชไตน์อันเดอร์เอลเบอ (Hirschstein an der Elbe) แคว้นแซกโซนี (Saxony) ระหว่างฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๕ และต่อมาก็ได้ถูกอัญเชิญให้เสด็จไปยังเมืองชตรอบล์ (Strobl) ใกล้เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ในออสเตรีย ขณะถูกคุมตัวและกักบริเวณในเยอรมนีนั้นกองกำลังฝ่ายพันธมิตรก็สามารถปลดปล่อยเบลเยียมให้เป็นอิสระจากการยึดครองของกองทัพเยอรมันได้และในวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ นายกรัฐมนตรีปีแยร์โลและคณะรัฐมนตรีพลัดถิ่นก็สามารถเดินทางกลับมายังกรุงบรัสเซลส์ แต่เนื่องจากพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงถูกทหารเยอรมันคุมตัวออกนอกประเทศรัฐสภาเบลเยียมจึงเลือกเจ้าชายชาลส์ (Charles) พระอนุชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๕๐
     ในปลายสงคราม กองพันที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกาก็สามารถช่วยเหลือพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ และพระราชวงศ์ให้เป็นอิสระจากการควบคุมตัวของฝ่ายเยอรมนีได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ อย่างไรก็ดีการเสด็จนิวัติมาตุภูมิของพระองค์ได้รับการต่อต้านจากชาวเบลเยียมส่วนใหญ่ เพราะต่างยังคงไม่พอใจในการตัดสินพระทัยสงบศึกกับฝ่ายเยอรมนีและพระจริยวัตรในระหว่างถูกควบคุมพระองค์ พรรคเสรีนิยมและพรรคฝ่ายซ้ายได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าทรงให้ความร่วมมือกับพรรคนาซีของเยอรมนีและทรงมีพระทัยโน้มเอียงไปทางลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ส่วนพรรคอนุรักษนิยมคาทอลิก (Catholic Conservatives) สนับสนุนพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ แต่มีบทบาทน้อยกว่า ในที่สุด รัฐสภา เบลเยียมประกาศห้ามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เสด็จกลับเข้าประเทศจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้น พระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์จึงต้องเสด็จไปประทับลี้ภัยที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลาอีกหลายปี ระหว่างนั้น รัฐบาลเบลเยียมก็ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนพระองค์ด้วยข้อกล่าวหาทรยศต่อประเทศ การสอบสวนดำเนินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยมีทั้งผู้ต่อต้านและผู้สนับสนุนพระองค์
     ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๐ สภาผู้แทนราษฎรเบลเบียมได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง ๑๑๗ : ๙๒ ผ่านร่างพระราชบัญญัติให้ประชาชนเบลเยียมลงประชามติเพื่อตัดสินใจว่าจะให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ครองราชสมบัติต่ออีกหรือไม่ และรัฐบาลก็จัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศขึ้นในวันที่ ๑๒ มีนาคม ผลปรากฏว่า พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ ๕๗.๗ ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่มากกว่าคะแนนเสียงสนับสนุนต่ำสุดที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ ๕๕ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีก ๔ เดือนต่อมารัฐสภาก็ได้ให้การรับรองร่างพระราชบัญญัติให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ เสด็จกลับมาครองราชสมบัติต่อไป ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พระเจ้าเลโอโปลด์พร้อมด้วยพระชายาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็เสด็จกลับเบลเยียมหลังจากต้องประทับลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลา ๕ ปี
     อย่างไรก็ดี ชาวเบลเยียมจำนวนมากซึ่งไม่ยอมรับผลคะแนนของการลงประชามติและมติของรัฐสภาได้ก่อจลาจลตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านพระองค์อีกทั้งยังได้มีการกำหนดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ในวันที่ ๑ สิงหาคม เมื่อถึงกำหนดวันเดินขบวน พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงตัดสินพระทัยมอบพระราชอำนาจทั้งปวงของพระองค์ให้แก่เจ้าชายโบดวง ดุ๊กแห่งบราบันต์พระราชโอรสองค์โตปัญหาต่าง ๆ จึงคลี่คลายลง อีก ๑๐ วันต่อมา รัฐสภาเบลเยียมได้ถวายการรับรองให้เจ้าชายโบดวง ดุ๊กแห่งบราบันต์ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศใหม่ว่า "พระบรมโอรสาธิราช" หรือ "ปรินซ์รอยัล" (prince royal) ปฏิบัติพระราชกิจในฐานะพระประมุขของประเทศเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ ในปีถัดมา ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงสละราชสมบัติ ในวันรุ่งขึ้นเจ้าชายโบดวงขณะมีพระชันษา ๒๑ ปี และทรงบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ส่วนพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ทรงดำรงพระยศเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งเบลเยียมและดุ๊กแห่งบราบันต์
     เจ้าชายเลโอโปลด์แห่งเบลเยียม ดุ๊กแห่งบราบันต์ หรืออดีตพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ กษัตริย์ของชาวเบลเยียมองค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก โกทาสิ้นพระชนม์ ณ ซินท์-ลามเบรคส์-โวลูเว (SintLambrechts- Woluwe) ในเบลเยียมเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๓ สิริพระชนมายุ ๘๒ พรรษา พระศพได้รับการถวายพระเกียรติให้ฝัง ณ สุสานหลวงในโบสถ์เอาเออร์เลดี (Church of Our Lady) เคียงข้างกับสมเด็จพระราชินีแอสตริด และต่อมาเมื่อเจ้าหญิงแห่งรูทีพระชายาสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ พระศพก็ได้รับอัญเชิญให้ฝังร่วมกันด้วย.



คำตั้ง
Leopold III
คำเทียบ
พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓
คำสำคัญ
- แบร์ชเทสกาเดิน, เมือง
- แซกโซนี, แคว้น
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- เบลส์, มารี ลิเลียน
- แอนต์เวิร์ป, เมือง
- ลูเซิร์น, ทะเลสาบ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- ฟือเรอร์
- ไรน์, แคว้น
- นามูร์, เมือง
- การถอนทัพที่ดันเคิร์ก
- ดันเคิร์ก, เมือง
- แอสตริด โซฟี หลุยส์ ไทรา, เจ้าหญิง
- ออสคาร์ที่ ๒ , พระเจ้า
- อาร์แดน, แคว้น
- อัลเบิร์ตที่ ๒, พระเจ้า
- เอลิซาเบท, สมเด็จพระราชินี
- เฟรเดอริกที่ ๘, พระเจ้า
- โบดวง, พระเจ้า
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- บราบันต์, ดุ๊กแห่ง
- เลโอโปลด์ ชาลส์ อัลเบิร์ต ไมน์รัดฮูเบอร์ทัส มารี มีเกล
- อัลเบิร์ตที่ ๑, พระเจ้า
- อัลเบิร์ต, เจ้าชาย
- ปีแยร์โล, อูแบร์
- เลโอโปลด์ที่ ๓, พระเจ้า
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- รูที, เจ้าหญิงแห่ง
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- หน่วยเอสเอส
- ชตรอบล์, เมือง
- ซาลซ์บูร์ก, เมือง
- ชาลส์, เจ้าชาย
- ลัทธิฟาสซิสต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1901-1983
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๔-๒๕๒๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf